ประวัติโรงเรียน

ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนเทพอำนวยหาดใหญ่

(เอกสารชุดนี้เรียบเรียงขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2006 เพื่อจัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดแวนตีสในประเทศไทย)

เมื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนเทพอำนวยหาดใหญ่ คงจะต้องย้อนหลังไปตั้งแต่คราวที่มีมิชชันนารีมาเริ่มต้นทำงานรับใช้พระเจ้าในครั้งแรกๆที่หาดใหญ่ เมื่อราวปี 1949 นายแพทย์ Ronald C. Gregory ชาวอเมริกันเป็นผู้มาบุกเบิกก่อตั้งโรงพยาบาลมิชชั่นหาดใหญ่ เมื่อแรกมาจัดตั้งเป็นคลินิคก่อน (โรงพยาบาลเปิดเป็นทางการเมื่อ 1 กรกฎาคม 1954 ส่วนอาคารโบสถ์หาดใหญ่ทำพิธีเปิดเมื่อ 18 สิงหาคม 1956) เมื่อลูกของท่านโตพอที่จะต้องเรียนหนังสือ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนแบบ multigrade สอนเป็นภาษาอังกฤษขึ้น นักเรียนของโรงเรียนจึงประกอบด้วยลูกๆของมิชชันนารีท่านอื่น ของศาสนาจารย์ประจำโบสถ์คืออาจารย์ หว่องเคียตซัม(Wong Kiat Sam) โดยมีมิซซิสหว่องภรรยาของท่านเป็นครูสอน ต่อมาเมื่ออาจารย์หว่องเคียตซัมย้ายไปกรุงเทพ Ms. Romana D. Cubin ชาวฟิลิปปินส์มาเป็นครูสอนแทน โรงเรียนใช้ห้องใต้บ้านพักภายในเขตโรงพยาบาลมิชชั่นเป็นห้องเรียน สอนตั้งแต่ grade 1 ถึง grade 8 ใช้ครูเพียงคนเดียว มีนักเรียนไม่กี่คน มีลูกของสมาชิกโบสถ์มาเรียนบ้าง(เช่น รศ. สุนทรี ตันตระรุ่งโรจน์)

จนกระทั่งปี 1963 (2506) นายแพทย์ Ronald C. Gregory เล็งเห็นว่า มีเด็กๆลูกของสมาชิกในโบสถ์หาดใหญ่อยู่หลายคน สมควรที่จะต้องมีโรงเรียนที่ให้การศึกษาแบบคริสเตียนตามแนวทางของคริสตจักรของเราที่เรียกว่าโรงเรียนโบสถ์ (church school) จึงได้ผลักดันให้เกิดโรงเรียนที่มีลักษณะเดียวกับที่เปิดอยู่แล้วแต่ใช้หลักสูตรภาษาไทยขึ้น แต่สมาชิกโบสถ์ส่วนใหญ่ไม่รู้จักหรือวางใจโรงเรียนลักษณะนี้ กล่าวคือมีครูสอนเพียงคนเดียว เรียนพร้อมๆกันไปหลายระดับชั้นในห้องเดียวกัน และมีนักเรียนไม่กี่คนนั่งเป็นกลุ่มตามระดับชั้นเรียนคนละมุมห้อง เมื่อเริ่มต้นจึงมีเพียง 2 ครอบครัวที่ยอมส่งลูกมาเรียน มีนักเรียน 3 คน (คุณนิตยา ติปะยานนท์ คุณกิตติพงษ์ ตันตระรุ่งโรจน์และ ดร.กิตติพัฒน์ ตันตระรุ่งโรจน์) มีชั้นเดียวคือประถมศึกษาปีที่ 5 คุณครูสังวาลย์ ล้านศรี ภรรยาของอาจารย์มั่น ล้านศรี ศิษยาภิบาลประจำโบสถ์เวลานั้นเป็นครูสอนคนแรก ใช้ห้องที่อยู่ทางด้านหลังธรรมมาสของโบสถ์เป็นห้องเรียน ในปีการศึกษาถัดมามีนักเรียนมาเพิ่มอีก 2 คน(นพ.กิตติพร ตันตระรุ่งโรจน์ เรียนชั้น ป. 5 และ นพ.วิเชียร แก่นพลอย เรียนชั้น ป. 7) แต่จัดการเรียนการสอนต่อมาได้อีกเพียงหนึ่งเทอม ขณะนั้นอาจารย์กำจร ศรีรัตนประภาส มาเป็นศิษยาภิบาลประจำโบสถ์ ได้รับรู้ว่าการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของทางราชการ เมื่อนักเรียนเรียนจบแล้วไม่สามารถที่จะไปเรียนต่อที่สถาบันใดๆได้ จึงหยุดดำเนินกิจการของโรงเรียนลง นักเรียนทั้งหมดต้องแยกย้ายกันไปหาที่เรียนในโรงเรียนปกติอื่นต่อไป ส่วนโรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษยังคงดำเนินต่อไปจนมิชชันนารีที่มีลูกเดินทางกลับประเทศ

เวลาผ่านไป 7-8 ปี ในปี 1971(2514) ขณะนั้นนายแพทย์ Roger Van Arsdell มาเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลมิชชั่นหาดใหญ่ ได้ผลักดันให้มีโรงเรียนหลักสูตรภาษาไทยที่ดำเนินถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของทางราชการขึ้น ตั้งชื่อว่าโรงเรียนเทพอำนวยหาดใหญ่(ขณะนั้นที่ภูเก็ตได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นก่อนแล้วชื่อโรงเรียนเทพอำนวยวิทยา) ท่านได้ทำการซื้อที่ดิน ก่อสร้างอาคารเรียน หอพักครู ติดต่อหาครูมาสอน ท่านและครอบครัว(ภรรยาของท่านแหม่ม Marcia Van Arsdell) ได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย ใจ และเงินทอง เพื่อให้เกิดมีโรงเรียนแห่งนี้ จนกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้สร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น ท่านได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะต้องมีโรงเรียนแบบคริสเตียนของเราเองและมีทุกระดับชั้นให้กับลูกหลานสมาชิกโบสถ์ได้เรียนจนกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัย

ในปีการศึกษาแรก(1971)ได้เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 7 โดยใช้อาคารเรือนไม้ชั้นเดียวที่สร้างบนเนื้อที่ที่ได้ซื้อไว้ประมาณ 4 ไร่(ต่อมาได้ซื้อเนื้อที่ข้างเคียงเพิ่มขึ้นอีก 1 ไร่เศษ) ราคาก่อสร้างประมาณ 80,000 บาท มีนักเรียน 37 คน ครู 5 คน ครูสุวิมล ธานีโรจน์(มั่นใจ)เป็นครูใหญ่ และขอให้คุณเปล่ง วิเทียมลักษณ์ เป็นผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียน ได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ 1 กันยายน 1971(2514)

ในปีการศึกษาถัดมาได้เปิดระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3 (ม.ศ. 1-3) พร้อมกับสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้นขนาด 8 ห้องเรียนอีกหนึ่งหลัง และหอพักครูและนักเรียนอีกหนึ่งหลัง เมื่อเริ่มต้นเรามีนักเรียนไม่มาก เนื่องจากไม่ได้มีนโยบายที่จะรับเด็กนักเรียนโดยทั่วไป คงรับเฉพาะลูกหลานหรือผู้ที่ใกล้ชิดกับพี่น้องสมาชิกโบสถ์หรือคนงานในโรงพยาบาลมิชชั่น วันสะบาโตนักเรียนทุกคนต้องมาโบสถ์ในรายการโรงเรียนสะบาโตและชั่วโมงนมัสการ อาหารเที่ยงที่ทางโรงเรียนจัดให้ปรุงโดยไม่ใช้เนื้อสัตว์

ในปีที่นายแพทย์ Roger Van Arsdell เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา ตรงกับปีการศึกษา 1973(2516) ท่านได้ผลักดันให้มีชั้นเรียนระดับ high school คือระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น ใช้หลักสูตรและการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยเชิญ Mr. Paul Kravig และภรรยาของท่านมาเป็นครูสอน อาจถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับนานาชาติแห่งแรกในหาดใหญ่ มีนักเรียน 12 คน แต่ทำการสอนได้เพียงรุ่นเดียว ในที่สุดก็ต้องปิดระดับชั้นนี้ไปหลังจากสอนไปครบ 2 ปี

ต่อมาเมื่อนายแพทย์ James D. Shuler มาเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลมิชชั่น ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า นักเรียนเมื่อจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.ศ.3)จากโรงเรียนของเราแล้ว ต้องออกไปหาสถานที่เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.ศ.4-5)ที่โรงเรียนอื่น จึงผลักดันให้เปิดระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น ในปีการศึกษา 1978(2521) จึงเปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.ศ.4)สายวิทยาศาสตร์ขึ้น มีนักเรียนมาเรียน 10 กว่าคน เนื่องจากต้องอาศัยครูพิเศษจากภายนอกหลายคน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง ทำให้รับนักเรียนในระดับนี้ได้เพียงรุ่นเดียว หลังจากดำเนินการได้ครบ 2 ปีการศึกษา จนกระทั้งนักเรียนรุ่นนี้จบหลักสูตรชั้น ม.ศ. 5 ก็ได้ปิดระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนี้ลง นักเรียนรุ่นนี้สามารถสอบเข้าไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหลายๆแห่งทั้งในและต่างประเทศเรียนสำเร็จกันเกือบทุกคน

โรงเรียนได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาโดยมีเพียงชั้นเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 7(ป.1-7)และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.ศ.1-3) จวบจนถึงราวช่วงปี 1982 สภาพการเงินของโรงเรียนอยู่ในสภาพที่รายจ่ายสูงกว่ารายรับหลายปี ทางโรงเรียนต้องรับสภาพที่ต้องเลี้ยงดูตัวเองให้ได้ ประกอบกับเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องปิดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งหมดลง คงเหลือเฉพาะระดับประถมศึกษาเท่านั้น ต่อมาในปีการศึกษา 1983(2526) อาจารย์อนุชา แซ่ย่อง ศิษยาภิบาลประจำโบสถ์และครูพวงเพชร สิทธิจินดา ครูใหญ่ขณะนั้น ได้มีแนวคิดขยายเปิดรับนักเรียนระดับอนุบาลขึ้น โดยใช้อาคารเรียนเรือนไม้เป็นห้องเรียน ทางโรงเรียนจึงมีระดับอนุบาล 1 ถึง 3 และประถมศึกษา 1 ถึง 6 ตั้งแต่เวลานั้นมาจนปัจจุบัน

ทางโรงเรียนได้ใช้อาคารเรียนเรือนไม้หลังแรกต่อมาอีกหลายปี จวบจนถึงปี 1998 พบว่าโครงสร้างของอาคารทรุดโทรมเนื่องมาจากถูกปลวกทำลาย จึงมีแนวคิดว่าจะรื้ออาคารนี้ลงและก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตหลังใหม่ โดยใช้ช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน(ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม)มีเวลาประมาณ 3 เดือนก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ได้ออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นล่างสำหรับชั้นอนุบาลขนาด 3 ห้องเรียนขนาดใหญ่(สามารถแบ่งซอยเป็น 6 ห้องเรียนได้)มีห้องน้ำห้องสุขาในห้องเรียน ชั้นที่สองเป็นห้องอเนกประสงค์ สามารถจัดเป็นห้องสมุด ห้องประชุม ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องคอมพิวเตอร์ ได้ตามความประสงค์ของโรงเรียน ส่วนชั้นที่สามจะให้เป็นที่ทำการของโรงเรียนศูนย์ส่งเสริมภาษาอังกฤษ ในปีแรกได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเฉพาะฐานรากและชั้นที่หนึ่งเท่านั้น ค่าก่อสร้างทั้งหมด 3.2 ล้านบาทเศษ ค่าก่อสร้างทั้งหมดนี้มาจากเงินบริจาคของพี่น้องสมาชิกโบสถ์ทั้งในและต่างประเทศ มาจากดอกเบี้ยของกองทุนของนายแพทย์ Roger Van Arsdell ที่ฝากประจำไว้กับธนาคาร(endowment fund) ตลอดจนเพื่อนมิตรสหายบุคคลอื่นๆทั่วไปที่มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือ เราได้ใช้เวลาปีเศษเพื่อรวบรวมเงินจำนวนนี้จนครบ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างได้เริ่มไปก่อนแล้ว ขณะนั้นเรายังไม่สามารถรวบรวมเงินได้เพียงพอ ดร.กิตติพัฒน์ ตันตระรุ่งโรจน์ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานการก่อสร้างในครั้งนั้น ต้องไปขอยืมเงินที่ยังขาดอยู่อีก 1.3 ล้านบาทจากเพื่อนนักธุรกิจที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกัน เพื่อจ่ายให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ครอบครัวของท่านภรรยาและลูกๆสามารถเข้าใจถึงการที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานขอร่วมกันในครอบครัวสำหรับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนและโบสถ์ยินดีให้เงินยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยและเงื่อนไข และเราได้รับเงินเพียงพอที่จ่ายคืนหมดภายในไม่ถึงปี

อีก 2 ปีถัดมาในปี 1999 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณจำนวน 1.5 ล้านบาทจากทางสำนักงานมิชชัน แห่งประเทศไทย จึงได้ทำการก่อสร้างชั้นที่สองของอาคารต่อจนแล้วเสร็จ ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งหมด 1.8 ล้านบาทเศษ เมื่อทบทวนดูพบว่าในช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มทำการก่อสร้างอาคารหลังนี้จนชั้นที่สองแล้วเสร็จ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เรียกว่าภาวะฟองสบู่แตก ประเทศชาติต้องกู้เงินจาก IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ธุรกิจต่างๆภายในประเทศต้องหยุดและปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก การก่อสร้างภายในประเทศแทบจะหยุดไปทุกที่ แต่พระเจ้าให้เราสามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารจนสำเร็จ เราคงค้างชั้นที่สามของอาคารที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ทรงรู้ว่าเราจำเป็นจะต้องใช้ พระองค์จะทรงจัดหาให้

ในการจัดพิมพ์อนุสรณ์ครั้งนี้ คงจะต้องกล่าวชื่อของบุคคลบางท่านไว้ที่ได้มีส่วนให้การสนับสนุนโรงเรียนในอดีตที่ผ่านไป บางท่านได้นอนหลับพักผ่อนในพระเยซูคริสต์แล้ว อาจารย์สันติ โสรัจจกุล คุณเปล่ง วิเทียมลักษณ์ คุณสุภรณ์ อุดมทัศนีย์(ภรรยาคุณหมอชินแวน) และคุณราตรี อัฐกิจ(ภรรยาอาจารย์ชามี อัฐกิจ) เป็นผู้ถือครองที่ดินของโรงเรียน ต่อมาได้ทำการโอนที่ดินทั้งหมดเข้าระบบในมูลนิธิของคริสต์จักร อาจารย์มั่น ล้านศรีผู้ติดต่อประสานงานการโอนที่ดินทั้งหมดด้วยความอดทนพากเพียรพยายาม คุณชัยวัฒน์ คูธนาสันธ์ เป็นผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียนต่อจากคุณเปล่ง วิเทียมลักษณ์เมื่อท่านเสียชีวิตลง ช่วงการโอนผู้รับใบอนุญาตในครั้งนั้นลำบากและยาวนานมาก โรงเรียนไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆได้ในช่วงนั้น คงต้องกล่าวขอบคุณบุคคลภายนอกคริสต์จักรไว้ในที่นี้ คุณนพดล ชูพล ศึกษาธิการจังหวัดสงขลาในขณะนั้น ที่ทำให้การโอนผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียนที่ดูแล้วว่าจะเป็นไปไม่ได้สำเร็จลง ท่านได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนของเราโดยไม่ได้ตั้งใจจึงรับรู้ปัญหาที่มี พระเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์

ประมาณช่วงปีการศึกษา 1987-1989(2530-2532) เป็นช่วงที่ลำบากที่สุดในด้านการเงินของโรงเรียน กล่าวคือรายจ่ายสูงกว่ารายรับต่อเนื่องสะสมมาหลายปี โรงเรียนต้องเป็นหนี้สำนักงานมิชชันแห่งประเทศไทยจำนวนมากและสำนักงานฯไม่ต้องการให้มีหนี้ผูกพันเพิ่มมากไปกว่านี้อีก เวลานั้นทางโรงเรียนต้องปรับตัวเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้วจะต้องปิดกิจการของโรงเรียนลง หนทางที่ทำได้อย่างหนึ่งคือต้องลดจำนวนครูและพนักงานให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้จะทำเช่นนั้นแล้วก็ยังไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองอยู่ดี คุณหมอชินแวน และคุณศรีรัตน์ โสรัจจกุล(ภรรยาอาจารย์สันติ โสรัจจกุล) ได้ให้เงินสนับสนุนเป็นรายเดือนยาวต่อเนื่องจนสภาพการเงินของโรงเรียนเริ่มยืนอยู่ได้ เมื่อปลายปี 1988 เดือนพฤศจิกายนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทรัพย์สินของโรงเรียนเสียหายไปเป็นจำนวนมาก เหมือนถูกภัยธรรมชาติซ้ำเติมทั้งๆที่โรงเรียนไม่ค่อยมีเงินอยู่แล้ว อาจารย์ทรงฤทธิ์ เดชวิญญาณ ผู้จัดการของโรงเรียนในเวลานั้นได้ทำหนังลือขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากพี่น้องสมาชิกโบสถ์ออกไปทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ตอบรับและให้ความช่วยเหลือกลับมาเป็นจำนวนไม่น้อย เราสามารถจัดซื้อและจัดทำหลายสิ่งหลายอย่างทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป และยังได้มากกว่าที่สูญเสียไปอีก ทำให้โรงเรียนจัดหาและมีอุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มเติมมากกว่าครั้งที่ก่อนน้ำจะท่วม พระเจ้ามีพระพรให้แม้จะพบกับความสูญเสีย

อาจารย์ไพโรจน์ ผูกจิต ศิษยาภิบาลประจำโบสถ์ จากหาดใหญ่ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยของเราในประเทศสิงค์โปร์ประมาณปี 1990(2533) อาจารย์อำพร เอี่ยวสกุล ผู้รับใช้บำนาญต้องมารับหน้าที่ผู้จัดการของโรงเรียนแทน ช่วงเวลานั้นฐานะทางการเงินของโรงเรียนเริ่มมาสู่จุดที่รายรับและรายจ่ายอยู่ใกล้เคียงกัน มันเป็นความทุกข์ของผู้ที่รับผิดชอบการเงินของโรงเรียนเมื่อใกล้สิ้นเดือนแล้วมีเงินเหลือไม่พอที่จะจ่ายเงินเดือนให้ครบ เมษายนเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาหนึ่งท่านต้องใช้เงินส่วนตัวของท่านสมทบกับเงินที่เหลือ เบิกจ่ายเงินเดือนให้กับครูและพนักงานทุกคนก่อน และพูดปลอบใจตัวเองว่า เดือนหน้าพฤษภาคมเปิดเทอมใหม่แล้ว ผู้ปกครองนักเรียนจะเริ่มทยอยชำระค่าเล่าเรียนใหม่ เราสามารถอยู่รอดไปอีกหนึ่งปีข้างหน้า ตลอดระยะเวลาที่ท่านมาช่วยดูแลกิจการของโรงเรียน ท่านไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากทางโรงเรียน

เมื่อนึกถึงพระพรตามพระสัญญาของพระเจ้าในพระธรรมมาลาคี ทำให้ตระหนักว่า โรงเรียนของเราซึ่งเป็นสถาบันของคริสต์จักรไม่ควรที่จะต้องมาประสบพบกับปัญหาทางด้านการเงิน หลังจากที่ ดร.กิตติพัฒน์ ตันตระรุ่งโรจน์ เข้ามาช่วยดูแลจัดการด้านการเงินของโรงเรียนระยะหนึ่งแล้ว ได้ตั้งนโยบายไว้ว่า ทุกสิ้นปีการศึกษาทางโรงเรียนจะต้องถวายคืนเงินสิบลดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา 1993(2535)จึงทำการคำนวณรายรับรายจ่ายถวายคืนเงินสิบลดหนึ่งเป็นครั้งแรกจำนวน 6,110 บาท ปีการศึกษาต่อๆมาได้เพิ่มเป็น 30,000 40,000 63,200 บาท โรงเรียนมีเงินถวายสิบลดหนึ่งทุกสิ้นปีการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่เวลานั้นมาจนถึงปัจจุบันไม่เคยขาด บางปีอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าตัวเลขที่กล่าวมา นอกจากนั้นท่านยังได้เปลี่ยนวิธีการถวายเงินสิบลดของครูและพนักงานของโรงเรียนที่เป็นสมาชิกโบสถ์ เดิมทางโรงเรียนจะเป็นผู้หักเงินสิบลดหนึ่งของแต่ละคนจากเงินเดือนที่จ่ายให้ทุกสิ้นเดือน แทนที่จะรวมเงินสิบลดหนึ่งของทุกคนแล้วนำถวายในโบสถ์ เป็นแยกเงินสิบลดหนึ่งของแต่ละคนใส่ซองถวาย แล้วคืนให้กับทุกคนที่โบสถ์เพื่อให้แต่ละคนถวายเงินถวายของตนเอง ท่านได้ช่วยดูแลกิจการของโรงเรียนแบบไม่เต็มเวลาหลายปีโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆจากโรงเรียน ในช่วงเริ่มต้นท่านได้ใช้เงินส่วนตัวของท่านจำนวนไม่น้อยในการให้เงินหมุนเวียนของโรงเรียนดำเนินไปได้คล่องตัว อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ติดต่อกับหลายคนโดยเฉพาะในหมู่พี่น้องของท่าน เพื่อขอการสนับสนุนด้านเงินดำเนินการให้กับโรงเรียน เมื่อฐานะการเงินของโรงเรียนดีขึ้น จึงได้บอกหยุดรับการช่วยเหลือการเงินในด้านนี้ลง นอกจากทางโรงเรียนจะมีโครงการพิเศษที่ต้องใช้เงินจำนวนสูง

ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอนระดับอนุบาล 1-3 ระดับชั้นละสองห้องเรียน แต่ละห้องมีนักเรียนประมาณ 20 คน รวมมีนักเรียนอนุบาล 116 คน มีครูประจำชั้นห้องละคน พี่เลี้ยงอีก 1 คน ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีระดับชั้นละ 1 ห้องเรียน นักเรียนประถมรวม 168 คน มีครูสอนชั้นประถมทั้งหมด 9 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน มีนักเรียนที่เป็นลูกหลานของสมาชิกโบสถ์ของเราไม่ถึง 5% นักเรียนส่วนใหญ่มาจากชุมชนรอบๆโรงเรียน มีอาคารเรียน 2 หลัง แผนกประถมใช้อาคารหลังเก่าทั้งหมด แผนกอนุบาลใช้ชั้นล่างของอาคารหลังใหม่ มีแนวกั้นแยกเป็นสัดส่วน ชั้นล่างของเรือนไม้อาคารหอพักเป็นห้องอาหาร มีคนครัวทั้งหมด 3 คน นักการภารโรงอีก 2 คน มีครูสุพิศ พุทธสุภะ เป็นครูใหญ่ ครูเสาวดี ตันตระรุ่งโรจน์ เป็นผู้จัดการ ครูเกือบทุกคนเป็นสมาชิกโบสถ์ สถานที่ตั้งคือ 382 ถนนราษฎร์อุทิศ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

การเรียนการสอนของโรงเรียนใช้หลักสูตรภาษาไทยตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละชั้นเรียนมีการนมัสการและเรียนวิชาพระคัมภีร์ทุกวัน อีกทั้งได้บรรจุวิชาพาธ์ไฟนเดอร์และแอ๊ดเวนเจอเรอร์ไว้ในหลักสูตรด้วย ความจริงแล้วเราเคยมีวิชานี้บรรจุไว้ในหลักสูตรในอดีตตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งโรงเรียนใหม่ๆ แต่ได้หยุดไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ได้กลับมาเริ่มให้มีอีกในปีการศึกษา 2005(2548) ในปีการศึกษาเดียวกันนี้ได้สอนเสริมเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาภาษาอังกฤษเข้าไว้ในหลักสูตรให้มากขึ้น โดยตระหนักว่าโลกของเราได้ก้าวเข้ามาสู่ยุคโลกาภิวัฒน์แล้ว ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆในโลกนี้ด้วยภาษาอังกฤษได้ดีแล้ว ประเทศชาติจะแข่งขันกับคนอื่นๆในโลกลำบาก ในการนี้ได้บรรจุครูชาวฟิลิปปินส์จำนวน 2 คนเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับทุกๆห้องเรียน เราคาดหวังว่านักเรียนในโรงเรียนของเราอีก 2-3 ปีข้างหน้าที่เรียนหลักสูตรของเราต่อเนื่องกัน จะมีทักษะรับรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างธรรมชาติ

ปัจจุบันเรากำหนดปรัชญาของโรงเรียนไว้ว่า มุ่งพัฒนาคนให้สมบูรณ์ ซึ่งหมายความว่า บุคลากรของโรงเรียนจะมุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ โดยยึดหลักการนี้มาจากพระธรรมลูกา 2:52 ว่า พระเยซูได้จำเริญขึ้น ในด้านสติปัญญา ในด้านร่างกาย และเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวง ดังนั้นจึงตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่า เราจะเป็นโรงเรียนคริสเตียนที่จัดการเรียนการสอนตามแนวทางของคริสต์จักรเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีส เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนมีสุขนิสัย สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติเต็มตามศักยภาพ เน้นทักษะการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะกับวัย และสามารถทำงานกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

เมื่อมองย้อนอดีตถึงความเป็นมาของโรงเรียน เราจะพบว่ามิชชันนารีชาวต่างประเทศที่มาทำงานที่หาดใหญ่หลายท่าน เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญว่าบุตรหลานของเราจะต้องมีสถานศึกษาที่เป็นของเราเอง อีกทั้งท่านเหล่านั้นยังมีความจริงจังที่จะผลักดันให้เกิดสถานศึกษาและระดับการศึกษาต่างๆขึ้นให้ได้ ในเบื้องต้นไม่ใช่พี่น้องสมาชิกของเราทุกคนจะเห็นชอบ รวมทั้งอยากส่งบุตรหลานของตนมาเข้าเรียน อีกทั้งมีคนบอกกล่าวแสดงความคิดเห็นไปในทางที่ไม่ดี มิชชันนารีเหล่านั้นได้รับรู้แสงสว่างของพระเจ้าจากข้อเขียนด้านการศึกษาผ่านนางเอเลน จี ไวท์ ก่อนพวกเราที่เป็นคนไทยโดยเฉพาะที่หาดใหญ่ วันเวลาผ่านไปเมื่อพวกเราคนไทยได้รับรู้แสงสว่างแห่งความจริงในด้านนี้มากขึ้น จึงรู้สึกทราบซึ้งในความจริงจังของท่านเหล่านั้น ที่ต้องการเตรียมเด็กๆสำหรับการดำรงชีพในโลกนี้เมื่อเติบโตขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตนิรันดร์ในแผ่นดินสวรรค์ด้วย ถ้าจะมองจากบุตรหลานของสมาชิกโบสถ์ที่เคยเรียนจากโรงเรียนแห่งนี้เมื่อโตขึ้นและยังอยู่เป็นกำลังสำคัญในแวดวงคริสต์จักรของเราอย่างซื่อสัตย์แล้ว พบว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่เราก็ยังมีผู้ที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีพื้นฐานคริสเตียนเลย เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ต้องการที่จะเข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อได้รับแสงสว่างแห่งความจริงของพระเจ้าได้กลับใจมารับเชื่อพระเยซูและยังอยู่ในแวดวงคริสต์จักร เช่น อาจารย์ดนัย อากาศสุภา นักเรียนเมื่อโรงเรียนเริ่มเปิดในปีแรกๆ คุณพวงงาม ผูกจิต(ภรรยาอาจารย์ไพโรจน์ ผูกจิต) นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงรุ่นเดียวของโรงเรียน คุณสมเกียรติ ชุมคง นักเรียนระดับ high school เพียงรุ่นเดียวของโรงเรียน อาจารย์ทรงฤทธิ์ เดชวิญญา อาจารย์สมชัย ชื่นจิต เป็นต้น

เมื่อครั้งที่โรงเรียนของเรายังมีระดับชั้นมัธยม กิจกรรมต่างๆในโบสถ์ไม่ว่าจะเป็น รายการโรงเรียนสะบาโต ร้องเพลงพิเศษ สาขาโรงเรียนวันสะบาโต สังสรรค์ในคืนวันเสาร์ ไปตั้งค่ายพักแรม จะดูคึกคักมีชีวิตชีวามีคุณภาพ เนื่องจากมีส่วนร่วมจากวัยรุ่นเด็กหนุ่มหญิงสาวจำนวนมากที่มาจากโรงเรียน มีนักเรียนมารับศีลบัพตีสมา แต่เมื่อเราปิดชั้นระดับมัธยมลง เด็กที่โตหน่อยและวัยรุ่นในโบสถ์เหลือน้อยมาก นักเรียนระดับอนุบาลและประถมยังเล็กเกินไปที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะยอมให้มาโบสถ์เองได้ อีกทั้งการมีส่วนร่วมช่วยกิจกรรมต่างๆก็มีจำกัด มีนักเรียนไม่น้อยที่มาจากครอบครัวที่ไม่ใช่คริสเตียนเข้ามาเรียนในโรงเรียนของเรา เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนกระทั้งจบชั้นประถมปีที่ 6 มีเวลาอยู่กับเราในโรงเรียนถึง 9 ปี ทุกคนร้องเพลงของเราเป็น ท่องข้อพระคัมภีร์ได้ อธิษฐานเป็น แต่เมื่อจากโรงเรียนของเราไปแล้ว มีที่กลับมารับเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าน้อยคนมากๆ รู้สึกเสียดายเด็กๆเหล่านี้ที่ต้องจากโรงเรียนของเราไปก่อนวัยที่สามารถเข้าใจและตัดสินใจรับเชื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า

เราคงจะต้องเข้าว่าพระเจ้าคงไม่มีพระประสงค์จะให้โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังดีในมุมมองแบบชาวโลก หรือเป็นโรงเรียนใหญ่มีนักเรียนเป็นจำนวนมากๆ เนื่องจากโรงเรียนในลักษณะเช่นนี้มักจะต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนที่สูง ครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินที่ไม่ร่ำรวยจะเข้ามาเรียนไม่ได้ ทั้งๆที่โรงเรียนของเราน่าจะเป็นโรงเรียนที่โด่งดังได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งโรงเรียนของเราใหม่ๆ ในยุคสมัยนั้นโรงพยาบาลมิชชั่นเป็นที่ยอมรับของผู้คนรอบๆเมืองหาดใหญ่เป็นอย่างมาก แพทย์ที่มาเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งคนไทยยอมรับนับถือโดยเฉพาะคำว่าฝรั่ง เมื่อเราเปิดโรงเรียนเทพอำนวยหาดใหญ่ใหม่ๆ จึงถูกมองว่าเป็นโรงเรียนของฝรั่ง นายอำเภอหาดใหญ่ขณะนั้น(นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา)ยังขอฝากลูกชายมาเป็นนักเรียนรุ่นแรกๆในโรงเรียนของเรา เราจำกัดจำนวนรับนักเรียนทั่วไปไว้น้อย เมื่อกาลเวลาผ่านไปถึงเวลาเมื่อทางโรงเรียนต้องการจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงดูตนเองได้ เรากลับไม่มีชื่อเสียงพอที่จะดึงดูดให้มีจำนวนนักเรียนมากขึ้นตามที่เราต้องการ เราตั้งค่าเล่าเรียนไว้สูงไม่ได้ จึงทำให้เรามีนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินทุกระดับ มีโอกาสที่จะเรียนรู้จักพระเจ้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านไปทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกโบสถ์เสมอในหลายๆด้าน นายแพทย์ Roger Van Arsdell ยังคงเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินเรื่อยมาถึงแม้ท่านไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมากกว่า 20 ปีแล้ว

เมื่อมองไปในอนาคต เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ทางโรงเรียนคงจะต้องหาทางขยายระดับการศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาอย่างที่เราเคยมีมาก่อน เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของสมาชิกโบสถ์และบุคคลทั่วไปที่จะให้ลูกหลานในความปกครองมาเล่าเรียน ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะต้องใช้ภาษาไทยได้ดีและถูกต้อง อีกทั้งมีความรู้ความสามารถที่จะสื่อภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษาได้ นอกจากนี้ยังต้องสามารถไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาที่ตนเองต้องการได้อีกด้วย ในการดำเนินการเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีครูที่มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งสามารถสอนถึงความรักและแสดงความรักของพระเจ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายคน จำนวนนักเรียนในแต่ละห้องเรียนจะต้องมีไม่มากเกินไปแต่ก็ต้องมีเพียงพอที่โรงเรียนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ นอกจากนี้แล้วสมาชิกโบสถ์ยังต้องมีความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมแห่งการเป็นเจ้าของโรงเรียน โดยให้ความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนด้วยการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อโรงเรียนสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีคุณภาพ

กรกฎาคม 2006

ดร. กิตติพัฒน์ ตันตระรุ่งโรจน์